เหตุฟ้องหย่า

เหตุแห่งการฟ้องหย่า (กม.ครอบครัว)

การหย่าโดยคำพิพากษาของศาล หมายถึง การที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งหยิบยกเอาเหตุแห่งการหย่าตามที่กฎหมายกำหนดไว้มาฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้หย่าขาดจากอีกฝ่ายหนึ่ง

มาตรา 1516 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติเรื่องเหตุแห่งการฟ้องหย่า ไว้ดังนี้

(1) สามีอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาหรือภริยามีชู้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(2) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง

(ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง

(ข) ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่ายที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป

(ค) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาเอาสภาพฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ

อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(3) สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจหรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง 
ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(4) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปีอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(4/1) สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกและได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิด
การกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง
ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควรอีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายเดือดร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(4/2) สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี 
หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกินสามปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(5) สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามปีโดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร 
อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(6) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควรหรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยาอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(7) สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี และความวิกลจริตนั้นมีลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริต
ถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(8) สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(9) สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรังไม่มีทางที่จะหายได้อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

(10) สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกายทำให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

ทั้งนี้เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516(1) และ(2) ถ้าสามีหรือภริยาแล้วแต่กรณีได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำที่เป็นเหตุหย่านั้น ฝ่ายที่ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจนั้นจะยกเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้เหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516(10) ถ้าเกิดเพราะการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่งอีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะยกเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้

ในกรณีฟ้องหย่าโดยอาศัยเหตุแห่งการผิดทัณฑ์บนตามมาตรา 1516(8) นั้นถ้าศาลเห็นว่าความประพฤติของสามีหรือภริยาอันเป็นเหตุให้ทำทัณฑ์บนเป็นเหตุเล็กน้อยหรือไม่สำคัญเกี่ยวแก่การอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุข ศาลจะไม่พิพากษาให้หย่าก็ได้

สิทธิในการฟ้องหย่าย่อมหมดไปในเมื่อฝ่ายที่มีสิทธิฟ้องหย่าได้กระทำการอันแสดงให้เห็นว่าได้ให้อภัยในการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นเหตุให้เกิดสิทธิฟ้องหย่านั้น

การหย่าโดยคำพิพากษาของศาลมีผลนับแต่เวลาที่คำพิพากษาถึงที่สุด ระหว่างสามีภริยาต้องถือว่าความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาสิ้นสุดนับแต่นั้น การหย่าโดยคำพิพากษาโดยทั่วไปไม่ต้องไปจดทะเบียนหย่า แต่หากคู่หย่าต้องการใช้ยันบุคคลภายนอกผู้สุจริต ก็จะต้องไปดำเนินการจดทะเบียนหย่า 

เมื่อจดทะเบียนหย่าแล้ว บุคคลภายนอกจะไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิแม้ว่าจะทำนิติกรรมกับคู่หย่าโดยสุจริตก็ตาม ซึ่งผู้มีส่วนได้เสียเพียงแต่ยื่นสำเนาคำพิพากษาที่รับรองสำเนาถูกต้อง พร้อมหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดต่อนายทะเบียน และขอให้นายทะเบียนบันทึกการหย่าไว้ในทะเบียนเท่านั้นก็ถือได้ว่าเป็นการจดทะเบียนหย่าแล้ว 

ผลของการหย่าโดยคำพิพากษาของศาลแยกพิจารณาได้ดังนี้

ประการแรก ผลของการหย่าระหว่างคู่สมรส ได้แก่

(1) การแบ่งสินสมรสและการชำระหนี้

การแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา ให้แบ่งกันตามจำนวนที่มีอยู่ในวันฟ้องหย่า ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาหลังวันฟ้องหย่าย่อมตกเป็นของฝ่ายนั้น ไม่เป็นสินสมรสอีกต่อไป การแบ่งสินสมรสนั้นให้ชายและหญิงได้ส่วนแบ่งในสินสมรสเท่ากัน 

หากชายและหญิงนั้นมีหนี้ร่วมกันในระหว่างเป็นสามีภริยา ความรับผิดในหนี้ร่วมต้องแบ่งตามส่วนเท่ากัน โดยมิต้องคำนึงถึงกองสินส่วนตัว หรือส่วนแบ่งสินสมรสที่ชายหญิงนั้นได้รับไป

หากคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจำหน่ายสินสมรสในลักษณะที่ทำให้อีกฝ่ายเสียประโยชน์หรือโดยไม่ได้รับความยินยอม คู่สมรสฝ่ายที่จำหน่ายจะต้องชดใช้ให้แก่กองสินสมรสเท่ากับจำนวนที่จำหน่ายไป ทำให้จำนวนสินสมรสที่จะนำมาแบ่งคงมีจำนวนเท่าเดิมก่อนการจำหน่าย 
การชดใช้ดังกล่าวจะชดใช้จากสินสมรสส่วนของตน หรือจากสินส่วนตัวก็ได้

(1) ค่าทดแทน

ค่าทดแทนเป็นเงินที่กฎหมายกำหนดให้คู่สมรสที่เป็นจำเลยในคดีฟ้องหย่าจ่ายเป็นค่าเสียหายให้แก่คู่สมรสฝ่ายโจทก์ ได้แก่กรณีที่ศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา 1516(1) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากหญิงอื่นหรือชู้แล้วแต่กรณีได้ หากตนมิได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในอีกฝ่ายหนึ่งกระทำการตามมาตรา 1516 (1) 

นอกจากนี้ ถ้าเหตุแห่งการหย่าตามมาตรา 1516(3) (4) หรือ (6) เกิดขึ้นเพราะฝ่ายผู้ต้องรับผิดชอบก่อให้เกิดขึ้นโดยมุ่งประสงค์ให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่อาจทนได้ จึงต้องฟ้องหย่า อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากฝ่ายที่ต้องรับผิด

การกำหนดค่าทดแทนศาลจะวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์ โดยศาลจะสั่งให้ชำระครั้งเดียว หรือแบ่งชำระเป็นงวดๆ ก็ได้

(2) ค่าเลี้ยงชีพ

ค่าเลี้ยงชีพ เป็นเงินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่กฎหมายกำหนดให้คู่สมรสฝ่ายหนึ่งต้องรับผิดชอบเมื่อมีการหย่าโดยคำพิพากษาของศาล ได้แก่การฟ้องหย่าที่เกิดจากความผิดของคู่สมรสที่ถูกฟ้อง หากการหย่าจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลงเพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส คู่สมรสที่เป็นฝ่ายที่เป็นฝ่ายผิดในคดีหย่าจะต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพด้วย ซึ่งค่าเลี้ยงชีพอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงจำนวนภายหลังได้แล้วแต่พฤติการณ์ ทั้งนี้ค่าเลี้ยงชีพ มีลักษณะเฉพาะตัว ดังนั้นสิทธิจะได้รับค่าเลี้ยงชีพมีลักษณะเฉพาะตัว ดังนั้นสิทธิจะได้รับค่าเลี้ยงชีพจะสละ หรือโอนมิได้ และไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดี

ประการที่สอง ผลของการหย่าต่อบุตร ได้แก่

(1) อำนาจปกครองบุตร

ศาลจะเป็นผู้ชี้ขาดว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใดโดยคำนึงถึงความผาสุกของเด็กเป็นสำคัญ และกฎหมายให้อำนาจศาลที่จะถอนอำนาจปกครองของคู่สมรสหากมีเหตุที่จะถอนอำนาจปกครองได้ เช่น ใช้อำนาจปกครองเกี่ยวแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ 

(2) การอุปการะเลี้ยงดูบุตร 

ศาลมีอำนาจกำหนดว่า สามีภริยาทั้งสองฝ่าย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะออกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเงินเท่าใดโดยพิจารณาจากความสามารถทางการเงินของทั้งสองฝ่าย แม้บิดามารดาจะถูกถอนอำนาจปกครองทั้งหมดหรือบางส่วนก็ไม่เป็นเหตุให้พ้นจากหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์

ค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้น จะชำระเป็นเงินหรือชำระเป็นอย่างอื่นก็ได้โดยอาจจะมีการปรับเปลี่ยนจำนวนใหม่ภายหลังก็ได้ หากพฤติการณ์รายได้หรือฐานะของคู่กรณีได้เปลี่ยนแปลงไป สิทธิที่จะได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้นจะสละหรือถอนไม่ได้และไม่อยู่ในข่ายบังคับคดี



Visitors: 160,723