คดีเช็คเด้ง

คดีเช็ค 

ปัจจุบันในการประกอบธุรกิจการค้า การชำระหนี้เนื่องจากการประกอบกิจการดังกล่าวมักใช้วิธีชำระด้วยเช็คจะลงวันที่สั่งจ่าย หรือไม่ลงวันที่สั่งจ่ายไว้ก็ตาม เมื่อผู้ที่ครอบครองเช็ค(ผู้ทรงเช็ค) นำไปขึ้นเงินแล้วถูกธนาคารปฏิเสธการชำระเงินตามเช็คนั้น (เช็คเด้ง) ผู้ที่ครอบครองเช็คก็ต้องมาดำเนินการตามกฎหมายเอากับผู้สั่งจ่ายเช็คอีกครั้งหนึ่ง แต่บางท่านอาจเคยสงสัยว่ากรณีใดบ้างที่เป็นความผิดทางอาญาซึ่งมีโทษจำคุก กรณีที่เช็คเด้งแล้วเป็นความผิดทางอาญาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งมีโทษจำคุกนั้นมีหลักเกณฑ์ดังนี้ 
  
มาตรา ๔ ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ 
   
(๑) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น 
 
  (๒) ในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ 
  
(๓) ให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น 
   
(๔) ถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คจนจำนวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คนั้นได้ 
   
(๕) ห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต 
เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ 
   
สำหรับหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายนั้นก็หมายความว่าต้องเป็นหนี้กันจริงๆ และหนี้นั้นก็ต้องบังคับได้ตามกฎหมาย ถ้าไม่เป็นหนี้กันจริงๆหรือหนี้นั้นตามกฎหมายไม่สามารถฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ก็ไม่เป็นความผิดทางอาญา 
   
กรณีหนี้ที่ตามกฎหมายไม่สามารถบังคับได้ก็มีเป็นต้นว่า 
   -
หนี้ที่เกิดจากการพนัน หรือจากการกระทำที่ผิดกฎหมาย 
   -
หนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมเงิน แต่ไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นหนังสือ(รวมทั้งกรณีสั่งจ่ายเช็คแลกเงินสด) 
   
นอกจากนี้กรณีที่สั่งจ่ายเช็คโดยไม่ได้ลงวันที่สั่งจ่ายไว้ แม้ผู้ครอบครองเช็คจะสามารถนำมาลงวันที่สั่งจ่ายเองได้ แต่ก็ไม่สามารถฟ้องเป็นคดีอาญาได้ คงต้องไปฟ้องร้องในทางคดีแพ่งต่างหาก และสำหรับการร้องทุกข์หรือฟ้องร้องดำเนินคดีนั้นก็ต้องทำภายในกำหนดอายุความ 
   
กล่าวคือ สำหรับในคดีอาญานั้นต้องดำเนินการภายในกำหนดสามเดือนนับจากวันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค (วันที่เช็คเด้ง) ส่วนในคดีแพ่งนั้นก็ต้องฟ้องร้องภายในอายุความ 1 ปีนับจากวันที่ลงในเช็ค  
   
แต่อย่างไรก็ตามความผิดทางอาญาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ เป็นความผิดที่สามารถยอมความได้ จึงสามารถเจรจายอมความกันได้ก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด กล่าวคือ แม้ศาลชั้นต้นตัดสินไปแล้วแต่ถ้ายังอุทธรณ์ฎีกาอยู่ก็ยังสามารถยอมความกันได้ นอกจากนี้ถ้าจำเลยนำเงินมาชำระหนี้ หรือหนี้ตามเช็คนั้นสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็ไม่ต้องติดคุก 
   
เหล่านี้เป็นกฎหมายในเรื่องเช็คโดยสรุป พอสังเขป และสำหรับกรณีที่ไม่เข้าเกณฑ์เป็นความผิดทางอาญา ก็ยังอาจถูกฟ้องร้องในเรื่องทางแพ่งได้นะครับ แต่ไม่มีโทษจำคุก 

Visitors: 160,676